Quiet Quitting คืออะไร
Quiet Quitting หรือการลาออกแบบเงียบ ๆ นั่นมิใช่การลาออกจากงานแต่อย่างใด แต่เป็นการนำเอากฎระเบียบและข้อบังคับในการปฏิบัติงานมาใช้เป็นตัวกำหนด เช่น ชั่วโมงการทำงาน หรือขอบเขตการทำงาน เป็นต้น ตัวอย่างเช่น งดการติดต่อหรือพูดคุยเรื่องงานนอกชั่วโมงการทำงาน การแยกกล่องข้อความชัดเจนระหว่างเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว ไม่ทำงานที่มิได้อยู่ในขอบเขตการจ้างงานที่ระบุไว้ในสัญญาจ้าง เป็นต้น ซึ่งหากถามว่า เป็นเรื่องที่ผิดไหม คำตอบคือไม่ผิด แต่ในทางปฏิบัติก็อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานและผลการดำเนินงานขององค์กรได้
ซึ่งโดยส่วนมากการนำเอา Quiet Quitting มาใช้ มักจะเกิดจากความพยายามสร้าง Work-Life Balance ในช่วงต้น การติดต่องาน สั่งงาน หรือพูดคุยเรื่องงานนอกเวลางาน เป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติ แต่กรณีที่มีเรื่องเร่งด่วน จำเป็น บางครั้ง “ผู้เกี่ยวข้อง” ก็อาจจำเป็นต้องรับรู้ เพื่อให้สามารถตัดสินใจและแก้ไขได้อย่างทันท่วงที หรือแม้กระทั่งขอบเขตการทำงาน เมื่อแต่ละคนอยากเติบโตไปในสายงานของตนเอง จะทำงานตามความรับผิดชอบของตนที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างก็คงไม่ได้ เพราะเมื่อได้รับการเลื่อนตำแหน่ง ก็ต้องมีความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่แปรผันตามกัน
ดังนั้น เมื่อพนักงานเลือกใช้ Quiet Quitting ในการทำงาน หัวหน้างานและ HR ก็มักจะมีมาตรการในการจัดการกับบุคคลที่ไม่สามารถส่งมอบผลงานตามที่ตกลงกันไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็น KPI หรือ OKR ก็ตาม แต่หากพนักงานสามารถส่งมอบผลงานตามที่ตกลงกันไว้ได้ ก็จะไม่มีปัญหา เพราะทุกคนได้รับการจ้างงานมาให้ทำงานในชั่วโมงทำงานของตน ตามขอบเขตการทำงานของตน การทำงานเกินเวลา หรือเกินหน้าที่ เป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เพราะจะเกิดต้นทุนแฝงอื่น ๆ ตามว่า ไม่ว่าจะเป็นค่าล่วงเวลา ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าสถานที่ รวมถึงค่ารักษาพยาบาล อีกด้วย
Quiet Quitting จะเป็นปัญหาเมื่อใด
นายจ้างจะเห็นว่า Quiet Quitting เป็นปัญหา ก็ต่อเมื่อพนักงานไม่สามารถส่งมอบผลงานได้ตามที่ตกลงกันไว้ อย่าลืมว่านายจ้างและ HR คาดหวังว่าพนักงานที่จ้างมาต้องสามารถทำงานได้ในขอบเขตการจ้างงาน และในเวลาทำงานที่กำหนดไว้อีกด้วย หากเราไม่ทำงานนอกเวลางาน ไม่ทำงานนอกขอบเขตการจ้างงาน สุดท้าย หากเราไม่สามารถส่งมอบผลงานได้ตามที่กำหนด คนผิดคือเรา เพราะเราทำไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ควรทำได้
หากกลับมาพิจารณาว่าเวลาทำงานของเราปกติ 9-5 พัก 1 ชม แปลว่าเราต้องใช้เวลาทำงานทั้งหมดวันละ 7 ชั่วโมงเต็ม ๆ นั่นหมายความว่า ทุกคนต้องมาถึงเตรียมพร้อมก่อนเวลาเริ่มงาน และใช้เวลาพักเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น ไม่มีเบรกชงกาแฟ เดินไปซื้อขนม รวมถึงพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับงานอีกด้วย
ซึ่งหากจะนำเอากฎกติกาการจ้างงานมาใช้ ก็ต้องใช้ให้ครอบคลุมทั้งสองฝ่ายเพื่อความยุติธรรมกับทั้งนายจ้างและลูกจ้างทั้งสองฝ่าย รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายด้วย จะไม่มีการกลับบ้านก่อนเวลาเมื่องานเสร็จ หรือนั่งเฉย ๆ เพื่อรอเข้าประชุมอีกต่อไป
เมื่อมีการนำเอา Quiet Quitting มาใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงทำให้นายจ้างและ HR ต้องเลือกมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้องค์กรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป การนำเอา technology ตลอดจนเครื่องมือต่าง ๆ มาใช้เพื่อติดตาม วัดผลการทำงานของพนักงาน หรือแม้กระทั่งให้อิสระกับพนักงานโดยไม่กำหนดสถานที่ทำงาน เป็นต้น โดยเลือกที่จะวัดผลการทำงานเป็นสำคัญ
การตอบโต้ Quiet Quitting
เมื่อมีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัท นายจ้างและ HR ก็ต้องพิจารณานำเอามาตรการต่าง ๆ มาใช้ ไม่ว่าจะเป็น Quiet Firing หรือ Quiet Hiring ตลอดจนมาตรการอื่น ๆ อีกมากมาย
Quiet Firing ก็คือส่วนหนึ่งของมาตรการบีบให้ลาออกไปเอง โดยการลดบทบาท ลดความสำคัญ หรือย้ายบุคคลนั้น ๆ ไปทำงานในสิ่งที่ไม่ถนัด ไม่สามารถส่งมอบผลงานได้ เป็นต้น ซึ่งในกรณีนี้ หากบุคคลนั้น ๆ รู้ตัว และมีความสามารถก็อาจจะเริ่มมองหางานใหม่ แล้วลาออกไปเองได้ แต่หากบุคคลนั้นไม่รู้ตัว หรือไม่มีความสามารถ บริษัทก็จะยังมีบุคคลนี้เป็นพนักงานต่อไป เป็นทั้งภาระให้องค์กรและคนในทีม ซึ่งสุดท้ายก็อาจจะกลายเป็น Toxic ให้กับการทำงานร่วมกับคนอื่น ๆ ได้อีกด้วย
Quiet Hiring ก็คือการขยายขอบเขตงาน หรือการมอบหมายงานสำคัญต่าง ๆ ให้กับพนักงานคนหนึ่ง เพื่อให้เรียนรู้และมีโอกาสในการพัฒนาตนเองต่อไป ซึ่งเหมือนจะเป็นเรื่องที่ดี แต่การมอบหมายงานหรือเพิ่มงานให้แบบเงียบ ๆ ไม่มีการชี้แจ้ง ไม่บอกสาเหตุที่ชัดเจน ความไม่ชัดเจนก็อาจเป็นบ่อเกิดของการตีความไปในทางต่าง ๆ ซึ่งสุดท้ายอาจกลายเป็นตีความว่า ตนเองไม่เป็นที่ต้องการขององค์กร เพราะไม่ได้รับมอบหมายให้ทำงานที่เป็น Core Competencies ของตนเอง แต่ให้ไปทำงานอื่น ซึ่งง่ายกว่า เพราะแต่ละคนให้ความสำคัญกับแต่ละอย่างไม่เหมือนกัน
การเปลี่ยนแปลงและความไม่ชัดเจน มักเป็น Toxic เสมอ การสื่อสารที่ดี ต้องถูกต้องและชัดเจนในเวลาเดียวกัน ไม่ปล่อยให้แต่ละคนคิดและตีความกันไปเอง โดยเฉพาะกับการที่คุณมี Talent ที่ต้องสร้างและรักษาเพื่อความยั่งยืนขององค์กร คนเก่งมีที่ไปเสมอ เค้าอาจจะเพียงแค่รออะไรบางอย่างเท่านั้น เมื่อถึงเวลาองค์กรจะสูญเสียคนเก่งไปโดยไม่รู้ตัว ไม่ใช่แค่ Quiet Quitting แต่เป็น Quiet Leaving การลาออกโดยไม่มีสัญญาณบอกเหตุ