ผลกระทบของ Covid-19 ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย

Photo by Erik Mclean on Unsplash

ประเทศไทยตรวจพบและยืนยันการติดเชื้อ Covid-19 รายแรกในวันที่ 13 มกราคม 2563 (ไทยพีบีเอสอินไซส์, 2563) ซึ่งเป็นชายชาวจีน แต่ในประเทศจีนผู้ติดเชื้อรายแรกอาจจะติดเชื้อตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน 2562 หลายสัปดาห์ก่อนที่รัฐบาลจีนจะออกแถลงการณ์ยืนยัน เว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันพบผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัส หรือ Covid-19 รายแรกของจีนเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2562 (โพสต์ทูเดย์, 2563) ประมาณสัปดาห์ที่สามของเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 เราได้เห็นว่าประเทศจีนมีอัตราการติดเชื้อใหม่ร้อยละ 0 และมีอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยน้อยลงเรื่อย ๆ จนกลายเป็น Zero Death แล้ว แต่ไวรัส Covid-19 กลับไปแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในประเทศแถบยุโรป โดยมีจุดเริ่มต้นที่ทางเหนือของประเทศอิตาลี แล้วแพร่กระจายเข้าสู่ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน สหราชอาณาจักร ตะวันออกกลาง และสหรัฐอเมริกาอย่างรวดเร็ว ด้วยปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจที่แตกต่างกันระหว่างเอเชียและยุโรป เราจะสังเกตได้ว่าความรวดเร็วในการแพร่กระจายของเชื้อ Covid-19 และการปรับตัวของผู้คนในสังคมมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

Photo by Sammy Joonhee on Unsplash

วันที่ 21 มีนาคม 2563 เป็นอีกหนึ่งวันที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทย เป็นวันที่รัฐบาลได้ประกาศปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นเหตุให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 ไปสู่คนหมู่มาก ซึ่งสืบเนื่องมากจากหลาย ๆ เหตุการณ์ที่จะไม่ขอกล่าวถึง หลังจากรัฐบาลได้ออกประกาศนี้ฉบับนี้ เป็นเหตุให้กิจการหลายแห่งต้องปิดกิจการตามประกาศ บริษัทเอกชนหลายแห่งประกาศให้พนักงานหลายทำงานจากที่บ้าน (work from home) เพื่อลดความเสี่ยง ก่อนหน้านี้ รัฐได้ประกาศปิดสถานที่ในกำกับของรัฐหลายแห่ง รวมถึง มหาวิยาลัย โรงเรียน และสถานบริการอื่น ๆ อีกมากมาย กว่าจะถึงวันที่ประกาศ “ปิด” หรือ “lockdown” สถานที่เหล่านี้ ประเทศไทยใช้เวลาประมาณ 2 เดือนเศษเลยทีเดียว ซึ่งก็เป็นผลงานของบุคลากรทางการแพทย์และการสาธารณสุขของเราที่ช่วยกันทำงานอย่างแข็งขันเพื่อชะลอการแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 สู่ประชาชนคนไทย หากเปรียบเทียบจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตกับทางยุโรปและอเมริกาที่มีการยืนยันผู้ป่วยรายแรกในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์เท่านั้น แต่อัตราการติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและแซงหน้าประเทศจีนไปเรียบร้อยแล้ว

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบของเหตุการณ์นี้ต่อเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ EEC ซึ่งเพิ่งมีการยืนยันว่าพบผู้ป่วยติดเชื้อ Covid-19 ไม่นานมานี้ และเริ่มมีการแพร่กระจายของเชื้อเข้าสู่จังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ EEC แล้ว ผู้เขียนขอจำแนกผลกระทบออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ผลกระทบระยะสั้น และผลกระทบระยะยาว

ผลกระทบระยะสั้นของ Covid-19 ต่อเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ EEC ที่เราเห็นได้ชัดเจน เริ่มต้นจากการกักตุนสินค้าอุปโภคและบริโภค รวมถึงสินค้าที่จำเป็นต้องใช้เพื่อการป้องกันการติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์เจล ปรอทวัดไข้ ไปจนถึงชุดป้องกันการติดเชื้อซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อจนกระทั่งสินค้าเหล่านี้เข้าสู่ภาวะขาดแคลน ทำให้มีการโก่งราคาสินค้า หรือขายสินค้าในราคาสูงกว่าปกติเป็นจำนวนมาก และเนื่องจากความต้องการสินค้าเหล่านี้เป็นจำนวนมากจนเกิดการหลอกลวงและฉ้อโกงเกิดขึ้น เช่น การสั่งซื้อสินค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์แล้วไม่ได้รับสินค้าตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งมีทั้งได้รับสินค้าที่คุณภาพไม่ตรงตามข้อตกลง และไม่ได้รับสินค้าเลย ต่อมาเมื่อมีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างมากขึ้น จาก Epidemic กลายเป็น Pandemic

Photo by Juthamas Vadhanapanich

รัฐบาลหลายประเทศเริ่มออกมาตรการปิดกั้นการเดินทางเข้าออกประเทศของต้นสำหรับผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงสูง จนส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมเป็นอย่างมาก เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยว โรงแรมก็ไม่มีแขกเข้าพักจนทำให้โรงแรมหลายแห่งต้องปิดบริการชั่วคราว บางแห่งถือโอกาสปิดตัวเลิกจ้างพนักงาน หรือให้พนักงานลาพักแบบไม่รับเงินเดือน เป็นต้น ซึ่งทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ต่อมาเมื่อภาครัฐมีมาตรการปิดสถานประกอบการสถานที่เสี่ยง และสถานบันเทิงเพิ่มมากขึ้นก็ทำให้มีคนจำนวนมากที่ต้องทำงานจากที่บ้าน ซึ่งทำให้คนเหล่านี้ไม่ต้องเดินทางออกไปทำงาน การบริโภคน้อยลง กำลังซื้อหดตัว ร้านค้าร้านอาหารต่าง ๆ ที่เคยผลิตเพื่อจำหน่ายให้กับพนักงานกลุ่มนี้ก็ขาดลูกค้าและต้องหยุดให้บริการเช่นกัน ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือ คนว่างงานและพนักงานที่ได้รับคำสั่งให้ทำงานจากที่บ้าน เริ่มเคลื่อนย้ายตนเองกลับภูมิลำเนา เพื่อลดค่าครองชีพลง แต่การเคลื่อนย้ายนี้ส่งผลให้เชื้อโรคแพร่กระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น จากเมืองสู่ชนบท และจังหวัดต่าง ๆ เกือบทั่วประเทศ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่ารอบการหมุนเวียนของเงินน้อยลงและผู้คนถือเงินสดไว้ยาวนานมากขึ้น ซึ่งทำให้ขนาดของเศรษฐกิจหดตัวลงอย่างเห็นได้ชัดเจน

Photo by Macau Photo Agency on Unsplash

อย่างไรก็ตามเมื่อคนอยู่บ้านมากขึ้น ร้านค้าต่าง ๆ ปิดให้บริการ การสั่งซื้อสินค้าและการทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ก็เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการที่สามารถปรับตัวได้ทัน การทำการตลาดออนไลน์ผ่านช่องทางต่าง ๆ กลายเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยสร้างยอดขายและรายได้ให้กับกิจการต่าง ๆ ทุกประเภท อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการขนส่ง หรือจัดส่งสินค้าอีกด้วย ร้านค้าร้านอาหารหลายแห่งเปิดให้บริการจัดส่ง จัดทำรายการอาหารเพื่อการจัดส่งโดยเฉพาะมากขึ้น ทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายมากขึ้นนั่นเอง เมื่อเหตุการณ์นี้บังคับให้เราต้องอยู่บ้านมากขึ้น ทำงานผ่านระบบการสื่อสารออนไลน์ต่าง ๆ ทำให้เราได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น มีการยอมรับนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดต่าง ๆ ภายใต้สภาวะการแพร่ระบาดของ Covid-19 นี้

Photo by Zhang Kenny on Unsplash

ได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น มีความใกล้ชิดมากขึ้น ซึ่งอาจจะช่วยลดปัญหาช่องว่างในครอบครัวหรือการขาดความอบอุ่นของเด็กวัยรุ่นลงได้ สุขภาพจิตของประชาชนโดยรวมแย่ลงเนื่องจากความหวาดระแวงจากข้อมูลที่ได้รับจากสื่อสังคมออนไลน์และสื่อต่าง ๆ มากมายที่มีทั้งข้อเท็จจริงและข่าวปลอม แต่เราก็ได้เห็นสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในหมู่คนไทยด้วยค่ะ ก็คือ ความมีน้ำใจของคนไทย ที่ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไร เราพร้อมที่จะร่วมมือร่วมใจฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้ #คนไทยต้องชนะ เราจะชนะ Covid-19 ไปด้วยความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจ และน้ำใจของคนไทยที่พร้อมจะยื่นมือไปช่วยเสมอ ตั้งแต่เหตุการณ์สึนามิถล่มภาคใต้ มาจนถึง #ก้าวคนละก้าว และเหตุการณ์สู้ Covid-19 ในครั้งนี้ ฮีโร่ของเราในทุก ๆ เหตุการณ์ที่กล่าวมาคือ “บุคลากรทางการแพทย์และการสาธารณะสุข” ของเราทุกคนที่ทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาให้พวกเราทุกคน ถึงตอนนี้เป็นเวลาเกือบสามเดือนแล้วที่บุคคลเหล่านี้ทำงานอย่างหนักเพื่อคนไทยทุกคน แต่เราจะไม่ชนะเลยหากไม่ได้รับความร่วมมือจากคนไทยทุกคนในการ “อยู่กับเหย้าเฝ้าเรือน” และ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” กันจนกว่าเหตุการณ์จะคลี่คลาย และเราจะพาประเทศไทยรอดไปด้วยกัน

Photo by Jérémy Stenuit on Unsplash

เมื่อเหตุการณ์นี้คลี่คลายผลกระทบระยะยาวที่จะเกิดขึ้นของ Covid-19 ต่อเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ EEC ที่คาดการณ์ได้ชัดเจน ก็คือพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนจะเปลี่ยนไป จากที่เคยออกไปทำงาน ออกไปจับจ่ายใช้สอยที่ห้างสรรพสินค้า หรือร้านอาหารต่าง ๆ อาจจะเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นการจับจ่าย ซื้อขายผ่านออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากความสะดวกสบายที่ได้รับ คนจะหันมาใส่ใจกับสุขภาพของตนเองและผู้คนรอบข้างมากขึ้นเนื่องจากการตระหนักถึงอันตรายจากการพัฒนาของเชื้อโรคต่าง ๆ ที่ส่งผลรุนแรงต่อร่างกายของเรา นอกจากนี้ ระบบการสาธารณสุขพื้นฐานของประเทศจะได้รับการใส่ใจและให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น ประชาชนคนไทยจะตระหนักถึงคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการของสถานพยาบาลในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ

เนื่องจากมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐที่ส่งผลให้เกิดภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจไม่เพียงของประเทศไทย แต่ยังรวมถึงประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จะก่อให้เกิดภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง บางประเทศอาจเข้าสู่สภาวะการเติบโตติดลบก็เป็นได้ ซึ่งจะทำให้ภาครัฐต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากมายซึ่งอาจเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการที่ทำงานเกี่ยวข้องกับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐซึ่งผู้ประกอบการควรติดตามประกาศจากภาครัฐอย่างใกล้ชิดเพื่อหาโอกาสสำหรับกิจการของตน นอกจากนี้ เนื่องจากมีการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำรงชีวิตอย่างเป็นปกติ (Digital as usual) ในทุกภาคส่วน เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายจนเข้าสู่สภาวะปกติความเคยชินในการนำเทคโนโลยีดิจิทัล หรือผลิตภัณฑ์ดิจิทัลต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในการทำงานและช่วยในการสื่อสารต่าง ๆ จะทำให้เกิดความต้องการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัล (Digital Products) เพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมและความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคมากขึ้น นอกจากนี้ เรายังมีทักษะใหม่ ๆ ที่ได้เรียนรู้และพัฒนาในช่วงวิกฤตการณ์นี้ ซึ่งจะช่วยให้คนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการวางแผนการทำงานและการดำรงชีวิตมากขึ้น นั่นคือมีสติในการดำรงชีวิตมากขึ้นนั้นเอง

References:
[1] ไทยพีบีเอสอินไซส์. (2563, 6 March 2563). เปิดข้อมูลผู้ติดเชื้อCOVID-19 ในไทย เคส 1 – 47. Retrieved from https://news.thaipbs.or.th/content/289592
[2] โพสต์ทูเดย์. (2563, 14 March 2563). ผู้ป่วยโควิดรายแรกในจีนอาจติดเชื้อตั้งแต่ 17 พ.ย.ปีที่แล้ว. Retrieved from https://www.posttoday.com/world/617662
[3] ส่วนหนี่งของบทความนี้นำมาจากบทความที่ส่งไปตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ